ตัวเขียนกับเสียงอ่าน : ฝ่ายตะวันออก (๖)

ทั้งไทยและเขมรต่างก็ยืมภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ แต่วิธีอ่านก็แตกต่างกันไปตามระบบของตน

ตัวอย่าง เช่น

ภาษาบาลีสันสกฤต* ไทยเขียน ไทยอ่าน เขมรอ่าน

Bhumi ภูมิ [พูม พูมิ] [พูม]

Buddha พุทธ [พุด] [ปุด]

canda candra จันท์ จันทร์ [จัน] [จัน]

devatam เทวดา [เทวะดา] [เตเวียะตา]

dhamma dharma ธัมม ธรรม [ทำ] [เทือมเมียะ]

jaya ชัย [ไช] [เจ็ย]

muni มุนี [มุนี] [มุนิ]

siha สีห์ สีหะ [สี สีหะ] [เซ็ย เซ็ยฮะ] tara ดารา [ดารา] [ตารา]

ภาษาเขมร** เขมรอ่าน ไทยเขียน ไทยอ่าน

กมฺพุชา [กัมปุเจีย] กัมพูชา [กัมพูชา]

กํเฎา [ก็อมเดา] กำเดา [กำเดา]

เขฺมร [เคฺมร์] เขมร [ขะเหฺมน]

จฺรมุะ [จฺรอโมะห์] จมูก [จะหฺมูก]

จมฺเรีน [จ็อมเริน] เจริญ [จะเริน]

เฌี [เชอ] เฌอ [เชอ]

เฎีร [เดอร์] เดิน [เดิน]

เพญ [เป็ญ ปิญ] เพ็ญ [เพ็น]

รเบียบ [รัวเบียบ] ระเบียบ [ระเบียบ]

วงฺเวง [ว็วงเวง] วังเวง [วังเวง]

สปฺปาย [สับบาย] สบาย [สะบาย]

จากตัวอย่างคำไทยที่ทับศัพท์มาจากภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาเขมรที่ยกมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ต่างภาษาต่างก็อ่านไปคนละอย่างตามระบบเสียงของตน เชื่อว่าผู้ใช้ภาษาทั่วไปที่มิใช่นักภาษาอาจจะไม่ทราบก็ได้ว่าคำเหล่านี้มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ เพราะเข้ามาสู่ภาษาไทยนานแล้ว ไม่เหมือนภาษาอังกฤษใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามา จึงจับความแตกต่างได้ง่าย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลนั้น ทรงกำหนดทั้งรูปเขียนภาษาไทย และรูปเขียนที่ใช้อักษรโรมันให้ด้วย แต่รูปอักษรโรมันที่ใช้นั้นรักษาความหมายของภาษาบาลีสันสกฤตไว้ หากอ่านตามอักษรโรมันโดยไม่รู้มาก่อนว่าภาษาไทยอ่านอย่างไรก็จะออกเสียงเป็นบาลีสันสกฤตหรืออังกฤษ โดยจะขอใช้ตัวอย่างเดิม ดังนี้

รูปเขียน เสียงอ่านแบบบาลีสันสกฤตหรืออังกฤษ ภาษาไทย

Bhumi [บูมิ] ภูมิ

Buddha [บุ๊ดด้า] พุทธ

canda candra [คันด้า คันดร้า] จันท์ จันทร์

devatam [เดวาตัม] เทวดา

dhamma dharma [ดัมมะ ดารมะ] ธัมม ธรรม

jaya [จะยะ] ชัย

muni [มุนิ] มุนี

siha [สีหะ] สีห์ สีหะ

tara [ตารา] ดารา

ฉะนั้น ชื่อ “วันเพ็ญ” “แสนดี” และ “สมร” จึงอาจจะมีผู้ใช้อักษรโรมันเขียนดังนี้

วันเพ็ญ = Vanben

แสนดี = Saendi (ตัว i มีเครื่องหมายคล้ายในภาษาฝรั่งเศส)

สมร = Samara

โดยสรุป ชื่อทั้ง ๓ ชื่อนี้จึงมีทางเลือกต่างๆ ดังนี้คือ

วันเพ็ญ = Wanphen One Pen Vanben

แสนดี = Sndi Saendi Sandy Saendi

สมร = Samn Samon Small Samara

ชื่ออื่นๆ ก็อยู่ในทำนองเดียวกันนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของชื่อต้องการใช้เกณฑ์ใด ใน ๔ เกณฑ์ต่อไปนี้คือ แบบถอดเสียง (transcription) แบบถอดอักษรเป็นอักษรโรมัน (Romanization) แบบถอดอักษรโดยเทียบกับภาษาอังกฤษ (Anglicization) และแบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้คงจะชี้ให้เห็นได้บ้างว่า ตัวเขียนกับเสียงอ่าน นั้นเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”

 

*เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเขียนอ่านตัวเทวนาครี จึงขอให้อักษรโรมันแทน

**เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเขียนอ่านตัวเขมร จึงขอให้อักษรไทยแทน

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน